· talk · 4 min read
Odoo Ecosystem
ทำความรู้จักกับระบบนิเวศของ Odoo CE, EE, OCA และ Ecosoft
Odoo 8.0 เป็น Odoo version สุดท้ายที่เป็น Pure Open Source เพราะหลังจาก version 9.0 เป็นต้นมา Odoo ได้เปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจใหม่ คือมี Community Edition (ต่อไปนี้จะเรียกว่า CE) ซึ่งเป็นตัว Open Source ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย และมี Enterprise Edition (ต่อไปนี้จะเรียกว่า EE) ซึ่งหากต้องมีการเสียเงินตามจำนวนผู้ใช้งานเป็นรายเดือน
และสำหรับผู้ใช้งานใหม่ๆที่เข้าไปที่เว็บไซต์ของ Odoo เอง ก็แทบจะไม่เห็นอะไรที่เกี่ยวกับ Community Edition และมักจะคิดไปว่า Odoo มีแต่ Enterprise Edition ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้งานเท่านั้น (เพราะเว็บไซต์ของ Odoo เองก็โฟกัสที่การขาย EE)
หลายคนที่มาหา Ecosoft มาด้วยคำถามแรก คือ “ถ้าจะใช้ Odoo ต้องมีค่าใช้จ่ายด้าน License เท่าไหร่” เราจะพยายามอธิบายว่า Odoo เป็น Open Source และคุณไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายด้าน License (ยกเว้นแต่คุณต้องการ EE) เพราะเนื่องจากที่ผ่านๆมา Ecosoft เราเน้นการวางระบบให้ลูกค้าโดยใช้ Community Edition หลายครั้ง คำตอบของเรายิ่งทำให้ลูกค้าสับสน อะไรคือ CE และมันแตกต่างจาก EE อย่างไร อะไรคือ Open Source อะไรคือ Community และมันสำคัญอย่างไร
เพื่อให้เข้าใจปัจจุบัน เรามาเข้าใจอดีตกันเล็กน้อยนะครับ
Odoo จากอดีตสู่ปัจจุบัน
Odoo เริ่มต้นเมื่อปี 2005 เมื่อ Fabien Pinckaers ขณะยังเป็นนักศึกษาจบใหม่ ได้พยายามหา ERP เพื่อมาจัดการกับธุรกิจครอบครัว และพบว่าในตลาดยังไม่มีซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับตัวเองทั้งด้านราคาและคุณภาพ จึงตัดสินใจเขียนซอฟต์แวร์ ERP ขึ้นมาใหม่โดยตั้งชื่อว่า TinyERP (เพราะมองว่าเป็น Project เล็กๆสำหรับ SME ตัวเอง) และเปิดซอร์สโค้ดเป็นแบบ Open Source 100% เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
แต่ด้วยสถาปัตยกรรมของ ERP ตัวนี้ที่ออกแบบมาให้มีความเป็น Modular มากๆ (แบบที่ไม่เคยทำได้ใน ERP ตัวอื่นๆ) ทำให้ได้รับความสนใจอย่างสูงในชุมชน Open Source มีนักพัฒนาเก่งๆจากทั่วโลกมาร่วม และซอฟต์แวร์ก็ใหญ่เรื่อยๆ
3 ปีถัดมา Fabien ได้เปลี่ยนชื่อเป็น OpenERP เนื่องจากมองว่าคำว่า Tiny ซึ่งแปลว่า “จิ๋ว” ไม่สื่อความหมายที่แท้จริง แต่ยังคงความเป็น Pure Open Source อยู่ (ไม่มี EE/CE มีแต่ Odoo)
ในปี 2010 เป็นต้นมา Odoo เริ่มได้รับความสนใจในระดับสากล บริษัทมีพนักงานประมาณ 100+ คน ปี 2013 ได้รับรางวัล Deloitte Technology Fast 50 Benelux เป็นบริษัท technology ที่เติบโตเร็วที่สุดในเบลเยี่ยม และในปี 2015 ได้รับรางวัลจาก Inc. Magazine ว่า Odoo เป็น “The top 5000 fastest-growing private companies in Europe” หลังจากนั้น Odoo ได้รับรางวัลต่างๆอีกมากมายจนปัจจุบันถือว่าเป็น Open Source ERP ที่ประสบความสำเร็จและมีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกมากกว่า 5 ปีติดต่อกันแล้ว
ผลการค้นหาใน Google - Odoo เปรียบเทียบกับ Open Source ERP อื่นๆในปี 2019 ทำให้แทบไม่ต้องอธิบายใดๆ
ในปี 2014 มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเมื่อเริ่มมองว่าแม้แต่คำว่า ERP ก็เล็กเกินไป จึงเปลี่ยนชื่อเป็น Odoo และเรียกตัวเองว่าเป็น Suite of Business Application แทนที่จะเป็น ERP ซึ่งฟังดูหนักไปที่ accounting แต่ Odoo ต้องการเป็นมากกว่านั้นมาก
ตลอดเวลาที่ผ่านมา Odoo คงหลักการความเป็น Pure Open Source มาโดยตลอดทำให้มีนักพัฒนาเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ตัวนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และในปี 2013 นักพัฒนาและผู้ใช้งานที่รักใน Odoo และ Open Source ได้ร่วมกันก่อตั้ง Odoo Community Association (OCA) ขึ้นเป็นองค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีหน้าที่ในการโปรโมทการใช้งาน Odoo ในองค์กรต่างๆ และสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่าง Odoo S.A. และ Community และร่วมสร้างโมดูลเสริมให้กับ Odoo ในแนวทางของ Open Source (ต่อไปนี้จะเรียกว่าโมดูล OCA)
ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ
แต่แล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นในปี 2015 ใน Odoo version 9 เมื่อ Odoo S.A. ตัดสินใจแยก Odoo เป็น 2 Edition คือ Community และ Enterprise โดยมีหลักว่าจะยังคงสัดส่วน 80% Community ละ 20% Enterprise ในตอนนั้นได้สร้างคำถามและความผิดหวังเป็นอย่างมากในชุมชนผู้ใช้งาน
แน่นอนว่า Odoo Community Association (OCA) ได้ออกมาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างหนัก ทุกคนเกรงว่าในวันหนึ่ง Odoo จะสูญเสียตัวเองให้กับบริษัทที่ใหญ่กว่าเข้ามากลืนกินเหมือนกับหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นในโลก Open Source (เหตุการนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการ Clone Odoo ออกไปเป็น FlectraHQ ใน version 11 https://flectrahq.com/)
แต่ถ้ามองในมุมของ Odoo S.A. เอง Fabien บอกว่าแม้ตัวเขาจะรักในความเป็น Open Source มาก และเคยประกาศว่า Odoo จะเป็น Free and Open Source ตลอดไป และแม้ว่า Odoo จะได้รับความนิยม แต่เมื่อมาถึงจุดนึง Odoo ก็อาจไม่สามารถแข่งขันกับ ERP รายใหญ่อื่นๆของโลกที่ไม่ใช่ Open Source ต่อไปได้ หากบริษัทไม่มีโมเดลทางธุรกิจที่จะสร้างรายได้ให้พอที่จะผลักดัน Research & Development ให้มากขึ้น และไม่อาจทำให้เป้าหมายในการสร้าง Business Software ที่ดีที่สุดในโลกประสบความสำเร็จ
Odoo S.A. ได้ให้สัญญาว่าจะยังคงโมเดล 80:20 ต่อไปในอนาคต และเพราะการที่ CE ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นก็จะเป็นประโยชน์โดยตรงกับ EE เพราะ EE ไม่ใช่ Software แยกไปอีกตัว เป็นแต่เพียงส่วนเพิ่ม 20% จาก CE นั่นเอง
แม้จะมีคนไม่เห็นด้วยมากมายในชุมชน แต่หลังจากผ่านไปหลายปี การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น สุดท้ายก็ได้รับการยอมรับแม้แต่จาก Odoo Community Association (OCA) ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และ OCA ก็จะยังสนับสนุน Odoo S.A. ต่อไป ปัจจุบัน Odoo CE ก็ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างมาก แต่ละ Version ที่ออกใหม่ มีการพัฒนาสำคัญๆเกิดขึ้น หลายๆโมดูลที่เคยอยู่ใน Enterprise ก็ได้รับการรวมเข้ากับ Odoo CE ใน version ถัดๆมา
Ecosoft เอง ด้วยที่ยึดมั่นในหลักการ Open Source อย่างมาก ตอนแรกเราก็ยังมีความคลางแคลงสงสัยในการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเช่นเดียวกัน ถึงกับเตรียมหาทางออกอื่นๆไว้ ตอนนั้น Ecosoft จึงออกจากการเป็น Official Partner - Silver แต่ตอนนี้ได้กลับมาเป็น Partner แล้ว
จากการที่เป็นสมาชิกใน OCA ผมได้พูดคุยและได้อ่านข้อมูลเชิงลึก ส่วนตัวผมคิดว่าที่ผ่านมา Odoo ยังดำเนินอยู่ในกิจกรรมทาง Open Source ที่ถูกต้อง และทาง Ecosoft ก็ยังพร้อมที่จะร่วมสนับสนุน Odoo และ OCA ต่อไป และอนาคตของ Odoo ดูจะยังสดใสอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อ Ecosystem ทั้งหมดทำงานร่วมกัน
- EE ช่วยให้ Odoo S.A. มีรายได้มากขึ้น
- ทำให้ Odoo S.A. ลงทุนใน R&D ได้มากขึ้น
- การวางสัดส่วน CE ต่อ EE ไว้ที่ 80:20 โดย CE จะเป็นส่วนฟังก์ชั่นที่คนส่วนใหญ่ใช้ (เช่น Sales, Purchase, Inventory, HR, etc) และ EE เน้นโมดูลที่เฉพาะทางกว่า (เช่น Quality Control, Document Sign, Field Service, etc.)
- เมื่อ EE สร้างอยู่บน CE (ไม่ได้แยกกัน) CE ที่ดีขึ้นหมายถึง EE ที่ดีขึ้นด้วย CE จึงเป็นส่วนที่ Odoo S.A. ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ถ้าดูเฉพาะ CE จะเห็นการพัฒนาที่รวดเร็วมากในหลายปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่จะมีการแบ่ง CE / EE
- Odoo Community Association (OCA) https://odoo-community.org/ ยังทำหน้าที่โปรโมทแนวทาง Open Source อย่างเข้มแข็ง ในมุมหนึ่ง OCA กำลังทำหน้าที่คานอำนาจกับOdoo S.A. ไปพร้อมๆกับการร่วมพัฒนา Odoo ให้ดียิ่งขึ้น
- ด้วยมาตรฐาน OCA ที่สูงลิ่ว โมดูลที่สร้างจาก OCA ถือเป็นโมดูลที่มีคุณภาพสูงเมื่อเทียบกับโมดูลที่ไม่ได้มาจาก OCA จนเราอาจกล่าวได้ว่า ส่วนต่างของ CE และ EE สามารถทดแทนและได้ด้วยโมดูลของ OCA เกือบ 100% และเหนือกว่าในหลายๆฟังก์ชั่น
- นอกจากนี้ Odoo S.A. เองยังเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถนำโมดูลของตัวเองขึ้นวางใน Odoo App Store ซึ่งมีทั้งแบบฟรีและเสียเงิน การเปิดเป็นตลาดโมดูลเสรี ทำให้มีโมดูลต่างๆให้เลือกใช้อีกนับหมื่นโมดูล
กล่าวโดยสรุป Odoo จึงได้ประโยชน์ทั้งสองด้าน ทั้งในด้านรายได้ของ Odoo S.A. ผ่านการมี Enterprise Edition ทำให้ Core Odoo ทั้ง CE และ EE มีความสามารถมากขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกๆปี แต่ก็สามารถส่งเสริมความเป็น Open Source ไปพร้อมๆกันด้วยการนำของ Odoo Community Association (OCA)
Modular ERP vs Monolith ERP
ความสำเร็จของ Odoo ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณสถาปัตยกรรมแบบ Modular (one need one app) ทำให้ Ecosystem ของ Odoo มีความน่าสนใจและมีโมดูลต่างๆให้เลือกมากมาย การวางระบบ Odoo จะสามารถทำแบบเล็กไปใหญ่ได้ ไม่จำเป็นต้องทำแบบ Big Bang
ในทางเทคนิค หมายความว่าตอนเริ่มติดตั้งเราจะยังไม่มีโมดูลอะไรเลย ผู้วางระบบจะเป็นผู้เลือกว่าต้องการโมดูลอะไรบ้างจึงค่อยๆติดตั้งไปทีละโมดูลได้
วิธีนี้อาจแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ ERP ที่ออกด้วยหลัก Monolith (ฟีเจอร์ต่างๆถูกรวมเข้ากับ Core Code) เมื่อโมดูลทั้งหมดจะอยู่ในตัว ERP กลางอยู่แล้ว หมายความว่าเมื่อติดตั้งระบบ จะได้ทุกๆความสามารถของ ERP ไปเลย หากโมดูลไหนที่ไม่ต้องการก็ทำการปิดการใช้งาน หรือหากต้องการใช้ก็เปิดขึ้นมาใช้ การพัฒนาใหม่ๆจะถูกรวมเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับแกน ERP หลักเลย
ผลลัพธ์คือ Odoo สามารถเล็กเมื่อตอบโจทย์เล็ก และสามารถใหญ่เมื่อตอบโจทย์ใหญ่ และมีความสามารถในการเพิ่มโมดูลเฉพาะทางเพื่อตอบโจทย์เฉพาะทาง หรือทำ Custom Development สำหรับความต้องการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทั้งหมดทำได้โดยไม่กระทบกระเทือนกับระบบหลัก
ความพิเศษเหล่านี้เองบางครั้งก่อนให้เกิดความสับสนกับผู้สนใจใน Odoo เช่นกัน สำหรับผมแล้วระบบ Odoo ที่สมบูรณ์ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ Odoo CE หรือ EE แต่ยังหมายรวมถึงโมดูล Community ต่างๆจำนวนมากที่มาช่วยเติมเต็มความสมูบรณ์ให้กับ Odoo
การวางระบบ Odoo ERP ที่สมบูรณ์คือส่วนผสมที่ลงตัวของ Odoo (CE or EE) + OCA Modules + Custom Developments
สำหรับ ERP ทั่วไปที่แบบ Monolith ถ้ามีฟังก์ชั่นการใช้งานครบ จบเบ็ดเสร็จในตัวเอง แม้ความยืดหยุ่นน้อยกว่า หรือปรับแต่งยาก (แพง) ก็อาจทำให้โปรเจคขึ้นได้ง่ายกว่า เพราะจะเป็นการง่ายกว่าที่จะบังคับให้ผู้ใช้ปรับตัวเข้ากับสิ่งที่ระบบมีเท่านั้น
ความเป็น Modular สูงๆและความสามารถในการปรับแต่งของ Odoo ในบางครั้งผมก็มองว่าเป็นกับดักเช่นกัน ในการวางระบบที่ซับซ้อนอย่าง ERP เพราะหากผู้วางระบบไม่เข้าใจโครงสร้างของ Odoo หรือไม่ทำการบ้านให้มากพอในการใช้โมดูล OCA หรือ community ที่่อาจมีอยู่แล้ว และใจอ่อนยอมทำ Custom Development มากเกินไป ยิ่งปรับระบบมาก โอกาสที่จะเกิด Bug ก็มากตาม และโอกาสที่โครงการจะเสร็จตามเวลาก็จะยากขึ้น
แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราเข้าใจในหลักของ Odoo เข้าใจถึง Ecosystem ของมัน Odoo ก็จะสามารถเป็น ERP ที่สามารถตอบโจทย์องค์กรได้อย่างตรงใจมากกว่า Monolith ERP
ปัจจุบัน Ecosoft ยังคงเชื่อมันในแนวทาง Open Source และการแบ่งปัน เราวางระบบให้กับองค์กรต่างๆด้วย Odoo CE + โมดูล OCA เป็นหลัก เราร่วมเป็น Contributor ให้กับ OCA เพื่อร่วมสร้างโมดูลที่มีคุณภาพและพร้อมใช้งานให้กับชุมชน Odoo เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราต้องการใช้ Open Source Software ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแบ่งปันหรือ Contribution ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางเดียว :)
› ค้นหาโมดูลคุณภาพจาก OCA: https://odoo-community.org/shop
› โมดูลที่ Ecosoft ร่วมพัฒนา: https://odoo-community.org/shop?&search=Ecosoft
› OCA Thailand Localization: https://github.com/OCA/l10n-thailand
› ต้องการมีส่วนร่วมใน OCA Contributor: https://odoo-community.org/page/Contribute
Note หากใครสนใจในการเป็น Contributor ให้กับ OCA เมล์มาคุยกันครับ kittiu@ecosoft.co.th
by Kitti U.